รายวิชาและหลักสูตร
รูปแบบการเรียนรู้ไตรภาษา (Trilingual Plus Program) เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน จัดการเรียนการสอนในรายวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ควบคู่รายวิชาเพิ่มเติมภาษาอังกฤษและภาษาจีนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนนำทักษะทางภาษาไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดพหุปัญญาโดยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกหลักสูตรให้นักเรียนเข้าร่วม อาทิ กิจกรรมชมรมที่จัดโดยอาจารย์ชาวต่างประเทศ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม การทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ (Field Trips) ค่ายภาคฤดูร้อนในต่างประเทศ (Summer Camp) โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถและเจตคติที่ดี ตลอดจนเพื่อให้นักเรียนก้าวไปสู่การเป็น พลโลกแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ
ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดพหุปัญญา ประกอบกับการพัฒนาความรู้และทักษะที่สอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในรูปแบบการเรียนรูัไตรภาษา สามารถเลือกศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในวิชาเอกต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจ
จุดเน้น 5 ด้านของรูปแบบการเรียนรูัไตรภาษา
รูปแบบการเรียนรู้ไตรภาษาจัดรูปแบบการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และรายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นสำหรับการต่อยอดไปสู่การเรียนระดับที่สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้แบบ Personalized Learning ในรายวิชาเพิ่มเติม ที่สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้และความสนใจส่วนบุคคลของผู้เรียน โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้
1. ส่งเสริมทักษะทางภาษาสู่ความเป็นเลิศ
2. จัดการเรียนการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
3. สอนเสริมเพิ่มทักษะ เติมเต็มศักยภาพของนักเรียนรายบุคคล
4. ใช้ดิจิทัลทางการศึกษา เพื่อสร้างนวัตกรรมแห่งอนาคต
5. จัดเนื้อหาส่งเสริมการเรียนรู้ความเป็นพลโลกอย่างแท้จริง
ตัวอย่างรายวิชาเพิ่มเติม
ในแต่ละภาคการศึกษา รูปแบบการเรียนรู้ไตรภาษาจัดให้มีรายวิชาเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ 5 วิชา และรายวิชาเพิ่มเติมภาษาจีน 2 วิชา รายละเอียดด้านล่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักสูตรเท่านั้น **
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
- รายวิชา Media Literacy (การรู้เท่าทันสื่อ)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักสื่อหลากหลายประเภทและลักษณะเฉพาะของสื่อแต่ละประเภท มีความรู้พื้นฐานในการเลือกรับข่าวสาร รู้จักคิดวิเคราะห์และรู้เท่าทันจุดประสงค์ของสื่อต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบดิจิทัล มีความระมัดระวังในการรับและผลิตข่าวสาร ตลอดจนสามารถเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพได้
- รายวิชา Global Perspectives (มุมมองต่อมิติโลก)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานทางภูมิศาสตร์ แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์กายภาพ เขตเวลาของโลก ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และผลกระทบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์และทักษะการคํานวณ เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสําคัญของความรู้ทางภูมิศาสตร์และผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจที่จะมีส่วนในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
- รายวิชา Financial Literacy (การรู้เท่าทันทางการเงิน)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเงิน สกุลเงิน การจัดการเงินส่วนบุคคล การหารายได้ การออมเงิน การวางแผนการออมเงินในระยะสั้น และการวางแผนการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเงินในสถานการณ์จำลองต่าง ๆ
- รายวิชา Intercultural Communication (การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างของวัฒนธรรมทั่วโลก ทั้งวิธีการสื่อสาร ค่านิยม ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคล เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ด้านมุมมองของภูมิศาสตร์และภูมิศาสตร์กายภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนตระหนัก ยอมรับ และเข้าใจวิถีปฏิบัติที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมของตน มีทักษะการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม และปฏิบัติตนตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
- รายวิชา Computer Skills and Robotics (ทักษะทางคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาวิธีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เรียนรู้องค์ประกอบพื้นฐานและแนวคิดหลักเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ที่มีไปต่อยอดได้ตามความสนใจเฉพาะทางในอนาคต
- รายวิชา Communicative Chinese Skills (ทักษะการพูดภาษาจีน)
มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนฝึกสนทนา แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน อาทิ เรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว เพื่อน และอาชีพพื้นฐาน ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาจีนแนะนำ ชี้แจง ขอร้อง และบอกความต้องการพื้นฐานของตนได้ โดยเรียงลำดับคำตามโครงสร้างประโยคของภาษาจีนและสื่อสารได้อย่างถูกต้องตามสถานการณ์